วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

หัวข้อรับผิดชอบ

ชนบท - -> เศรษฐกิจพอเพียง

บทวิเคราะห์

บทวิเคราะห์เศรษฐกิจพอเพียง
ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จะสังเกตได้จากภูมิประเทศที่มีทรัพยากรต่าง ๆ มากมายที่เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม รวมทั้งภูมิสังคมที่สมาชิกภายในสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีความผูกพันกับธรรมชาติและเลี้ยงชีพด้วยการเกษตร แต่เมื่อความเจริญเข้ามา เราถูกหลอกให้หลงเชื่อกับคำว่า “พัฒนา” บิดเบียนไปจากแนวทางที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นมายาคติที่ต่างชาติที่เป็นประเทศอุตสาหกรรม ได้วางไว้ หลอกให้เราเดินตาม และหลงเชื่อว่าถ้าเราต้องการเป็นประเทศที่เจริญก็ต้องทำตามแบบอย่างเขา ต้องพัฒนาในทุก ๆ ด้าน โดยเฉพาะด้านอุตสาหกรรม ไทยเราก็หลงเชื่อเร่งพัฒนาประเทศ เดินตามทางที่ต่างชาติได้ปูไว้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หลอกหลวง และเมื่อเราได้ทำตามในขั้นหนึ่งแล้ว ต่างชาติก็จะสร้างมาตรฐานขี้นมาควบคุมเราอีกชั้น เราก็พยายามที่จะทำให้ได้อย่างที่เขาบอก สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาอีกที นั่นก็คือ ISO เราก็จะเดินตามเขาอย่างนี้ไม่รู้จบ จนทำให้เราลืมในสิ่งที่ตนมี ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี มีค่า มีประโยชน์ นั่นก็คือเกษตรกรรมนั่นเอง เช่นกรณีคนในชนบทอพยพไปหางานทำในเมืองใหญ่ ละทิ้งภาคเกษตรกรรมมุ่งสู่ภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากมาย เช่นปัญหาสังคม ปัญหาภาวะเป็นพิษทางด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเสียง อากาศ น้ำ ดิน รวมทั้งปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๐ ด้วย เป็นต้น
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเป็นที่รักของประชาชนชาวไทยทั่วประเทศ ตั้งแต่ที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ได้ทรงอุทิศพระวรกายในการทรงงานเพื่อความผาสุกของ ผสกนิกชาวไทย สถานที่ใดที่ประชาชนเดือดร้อน พระองค์ก็เข้าไปศึกษาทำความเข้าใจและหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ด้วยพระปรีชาสามารถตลอดมา และจากเหตุการณ์กรณีเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี พ.ศ.๒๕๔๐ ดังกล่าว พระองค์ก็ทรงทราบและได้พระราชทานแนวทางในการแก้ปัญหา ที่พระองค์ได้คิดค้นก่อนหน้านี้ (พ.ศ.๒๕๑๗) เพื่อที่จะช่วยให้ประเทศไทยผ่านวิกฤติการณ์ดังกล่าวให้ได้ แนวทางนั้นก็คือเศรษฐกิจพอเพียงนั่นเอง

เศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางให้ประชาชนทุกคนสามารถช่วยตนเองได้ มีความเป็นอยู่ที่ดี ใช้ชีวิตด้วยความพอประมาณ มีเหตุมีผล ตามทางสายกลาง เมื่อทุกคนสามารถช่วยตนเองได้แล้ว ก็จะหันหน้าเข้าหากันคอยช่วยเหลือชึ่งกันและกันต่อไป
รวมทั้ง

ทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการจัดการที่ดินและน้ำ รวมทั้งการใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งทั้งเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่นี้ถ้าใช้ควบคู่กัน จะทำให้ประเทศชาติเจริญ ด้วยความมั่นคง ยั่งยืน และสมดุล ด้วยรากฐานทางเกษตรกรรม (สำหรับรายละเอียดของทั้งสองเรื่องนี้ (เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่สามารถติดตามอ่านได้ที่องค์ความรู้ในหัวข้อเดียวกัน)
สำหรับทหารกับการพัฒนานั้น ทหารนอกจากจะมีหน้าที่ในการป้องกันและรักษาอธิปไตยของชาติในยามศึกสงครามแล้ว ในยามปกติทหารก็มีหน้าที่ในการป้องกันและรักษาไว้ซึ่งอธิปไตยของชาติเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมกำลังรบ การพัฒนาประเทศ ยิ่งศรัตรูที่มองไม่เห็นและมาในรูปแบบต่าง ๆ ที่มองไม่เห็นตัวตน ยิ่งอันตรายกว่าในยามสงครามดังนั้นทหารจึงต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือทุกเมื่อ และหน้าที่ที่สำคัญยิ่งอีกประการหนึ่งก็คือ การดำรงและรักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ ด้วยการแสดงออกถึงความจงรักภักดี วิธีการหนึ่งก็คือการสนับสนุนโครงการในพระราชดำริ โครงการหลวงต่าง ๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถช่วยตนเองได้ ตัวอย่างกิจกรรมด้านต่าง ๆ ที่ทหารได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศตามแนวพระราชดำริ ได้แก่
1. กองทัพกับการพัฒนาทางด้านการเมือง
2. กองทัพกับการพัฒนาด้านสังคมและจิตวิทยา

3. การช่วยเหลือประชาชนที่ประสบสาธารณะภัย
4. กองทัพกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ

องค์ความรู้

เศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง : ปรัชญาอันทรงค่าจากพ่อของปวงชนชาวไทย “เศรษฐกิจพอเพียง” (Sufficiency Economy) เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า 25 ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจขึ้น พระองค์ท่านได้ทรงเน้นย้ำว่าเป็นแนวทางการแก้ไขเพื่อให้ประเทศรอดพ้นจากปัญหาต่างๆ สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้แนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลางโดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใดๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่างๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบเพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี
3 ห่วง 2 เงื่อนไข : หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่สำคัญที่สุด ทุกคนควรเข้าใจ “คำนิยาม” ว่าความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3 ห่วง และ 2 เงื่อนไข โดย 3 ห่วง คือ
ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไปโดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่นการผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผลโดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นโดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล
ส่วน 2 เงื่อนไข คือการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ระดับพอเพียงนั้น ต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ประกอบไปด้วย
เงื่อนไขความรู้ หมายถึง ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน เพื่อประกอบการ วางแผน และความระมัดระวังในขั้นตอนปฏิบัติ
เงื่อนไขคุณธรรม ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต และมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
สรุป เศรษฐกิจพอเพียงเป็นพระราชดำรัสที่พระราชทานให้ประชาชนดำเนินตามวิถีแห่งการดำรงชีพที่สมบูรณ์ ศานติสุข โดยมีธรรมะเป็นเครื่องกำกับ และใจตนเป็นที่สำคัญ ซึ่งที่พระองค์ทรงรับสั่งมานั้น แท้ที่จริง คือ วิถีชีวิตไทยนั่นเอง วิถีชีวิตไทยที่ยึดเส้นทางสายกลางของความพอดี เป็นการเสริมพลังให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างมั่นคงภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างฐานทางเศราฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งรักษาความสมดุลของทุนและทรัพยากรในมิติต่างๆ ตลอดจนสามารถปรับตัวพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้อย่างเท่าทัน และนำไปสู่ความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนชาวไทยในที่สุด
ทฤษฎีใหม่
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับการจัดการทรัพยากรการผลิตทางการเกษตร
ทฤษฎีใหม่ : แนวทางการจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรที่ยั่งยืน
"ทฤษฎีใหม่" เป็นแนวทางหรือหลักการในการจัดการทรัพยากรระดับไร่นาคือที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการดำเนินการทฤษฎีใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทำการศึกษาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๒ และได้พระราชทานเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.๒๕๓๗ สำหรับขั้นตอนการดำเนินงาน มีดังนี้
ขั้นที่ ๑ ทฤษฎีใหม่ขั้นต้น โดยในขั้นที่ ๑ นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพของการผลิต เสถียรภาพด้านอาหารประจำวัน ความมั่นคงของรายได้ ความมั่นคงของชีวิต และความมั่นคงของชุมชนชนบท เป็นเศรษฐกิจพึ่งตนเองมากขึ้น มีการจัดสรรพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ให้แบ่งพื้นที่ ออกเป็น ๔ ส่วน ตามอัตราส่วน ๓๐:๓๐:๓๐:๑๐ ซึ่งหมายถึง พื้นที่ส่วนที่หนึ่งประมาณ ๓๐% ให้ขุดสระเก็บกักน้ำ เพื่อใช้เก็บกักน้ำฝนในฤดูฝนและ ใช้เสริมการปลูกพืชในฤดูแล้ง ตลอดจนการเลี้ยงสัตว์น้ำและพืชน้ำต่าง ๆ (สามารถเลี้ยงปลา ปลูกพืชน้ำ เช่น ผักบุ้ง ผักกะเฉด ฯ ได้ด้วย) พื้นที่ส่วนที่สองประมาณ ๓๐% ให้ปลูกข้าวในฤดูฝน เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวันในครัวเรือนให้เพียงพอตลอดปี เพื่อตัดค่าใช้จ่ายและสามารถพึ่งตนเองได้ พื้นที่ส่วนที่สามประมาณ ๓๐% ให้ปลูกไม้ผล ไม้ยืนต้น พืชผัก พืชไร่ พืชสมุนไพร ฯลฯ เพื่อใช้เป็นอาหารประจำวัน หากเหลือบริโภคก็นำไปจำหน่าย และพื้นที่ส่วนที่สี่ประมาณ ๑๐% ใช้เป็นที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และโรงเรือนอื่น ๆ (ถนน คันดิน กองฟาง ลานตาก กองปุ๋ยหมัก โรงเรือน โรงเพาะเห็ด คอกสัตว์ ไม้ดอกไม้ประดับ พืชผักสวนครัวหลังบ้าน เป็นต้น) ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ลงมือปฏิบัติตามขั้นที่หนึ่งในที่ดินของตนเป็นระยะเวลาพอสมควรจนได้ผลแล้ว เกษตรกรก็จะพัฒนาตนเองจากขั้น "พออยู่พอกิน" ไปสู่ขั้น "พอมีอันจะกิน" เพื่อให้มีผลสมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงควรที่จะต้องดำเนินการตามขั้นที่สองและขั้นที่สามต่อไปตามลำดับ (มูลนิธิชัยพัฒนา, ๒๕๔๒)
ขั้นที่ ๒ ทฤษฎีใหม่ขั้นกลาง เมื่อเกษตรกรเข้าใจในหลักการและได้ปฏิบัติในที่ดินของตนจนได้ผลแล้ว ก็ต้องเริ่มขั้นที่สอง คือ ให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่ม หรือ สหกรณ์ ร่วมแรง ร่วมใจกันดำเนินการในด้าน (๑) การผลิต (๓) ความเป็นอยู่ (๔) สวัสดิการ (๕) การศึกษา (๖) สังคมและศาสนา
กิจกรรมทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าส่วนราชการ องค์กรเอกชน ตลอดจนสมาชิกในชุมชนนั้นเป็นสำคัญ
ขั้นที่ ๓ ทฤษฎีใหม่ขั้นก้าวหน้า เมื่อดำเนินการผ่านพ้นขั้นที่สองแล้ว เกษตรกรจะมีรายได้ดีขึ้น ฐานะมั่นคงขึ้น เกษตรกรหรือกลุ่มเกษตรกรก็ควรพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ขั้นที่สามต่อไป คือ ติดต่อประสานงาน เพื่อจัดหาทุน หรือแหล่งเงิน เช่น ธนาคาร หรือบริษัทห้างร้านเอกชน มาช่วยในการทำธุระกิจ การลงทุนและพัฒนาคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทั้งฝ่ายเกษตรกรและฝ่ายธนาคารกับบริษัท จะได้รับประโยชน์ร่วมกัน (ไม่ถูกกดราคา)

ประวัติย่อผู้จัดทำ

นนร.ธีรพงษ์ พิมพ์นนท์
สังกัด พัน.๓ ร้อย. ๒ กรม นนร.รอ.
ถนนสุวรรณศร ต.พรหมณี อ.เมือง
จ.นครนายก 26001
ชั้นปีที่ ๒ กองกฎหมายและสังคมศาสตร์
ตอนสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา เลขที่ ๑๐
เกียรติประวัติ
อดีต หัวหน้ากองร้อยนักเรียนใหม่ ตท.๕๑ รร.ตท.
ชนะเลิศรายการวิ่ง ๕,๐๐๐ ม. กีฬากองพัน ปี ๔๑ รร.จปร.
อาจารย์ที่ปรึกษา ร.ท.ธนัส มานุวงศ์